SciUBU แนะนำ ห้องประชุมมณีเทวา คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ |
ห้องประชุมมณีเทวา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ช่วงนี้ใครเดินผ่านห้องประชุมใหม่ของ SciUBU คงจะเห็นแล้วว่า ห้องนี้ชื่อ มณีเทวา ทำไมถึงเป็นชื่อนี้ได้นะ วันนี้เรามาไขความลับที่มาของชื่อนี้กัน “มณีเทวา” หรือ “ดอกกระดุมเงิน” ชาวบ้านในภาคอีสานเรียกว่า “หญ้าหัวงอก” หรือ “หญ้าผมหงอก” เนื่องจากเกสรที่อยู่รอบดอกมีลักษณะคล้ายขนเล็กๆ สีขาวที่ปกคลุมทั่วทั้งดอก ทำให้ดูเหมือนกับคนแก่ที่มีผมหงอก หรือเม็ดกระดุมสีเงินที่กำลังประกายแสง "มณีเทวา" เป็น 1 ใน 7 ดอกไม้ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดอกไม้ชนิดนี้มีรูปลักษณ์กลมคล้ายกระดุม และยังสามารถมองเห็นได้ว่าเหมือนแก้วมณีสีขาวใสผุดผ่อง ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อ “มณีเทวา” ที่สามารถแปลได้ว่า “แก้วมณีของเทวดา” ในช่วงเดือนธันวาคมถึงปลายมกราคม ดอกมณีเทวาจะบานสะพรั่งเต็มพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุ่งดอกกระดุมเงินที่หนองหญ้าม้า อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความงดงามและกว้างใหญ่มากในภูมิภาคนี้ ท้องทุ่งดูสดใสและมีชีวิตชีวา โดยมีแมลงเต่าทองสีส้มอมแดงมาเกาะอยู่บนดอกไม้ ทำให้บรรยากาศยิ่งมีเสน่ห์ การนำชื่อ "มณีเทวา" มาใช้เป็นชื่อห้องประชุมเอนกประสงค์ใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สะท้อนถึงความงามของธรรมชาติในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะดอกมณีเทวา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญในพรรณไม้ประจำถิ่น การเลือกใช้โทนสีขาวเป็นพื้นฐานหลักในห้องประชุมช่วยสร้างบรรยากาศที่สดใสและโปร่งโล่ง ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติและความงามของดอกมณีเทวา การใช้สีน้ำเงินในห้องประชุมแสดงถึงสัญลักษณ์ของคณะวิทยาศาสตร์ หรือเปรียบเสมือนสีของท้องฟ้า และการเลือกวัสดุลายไม้ช่วยให้บรรยากาศในห้องประชุมมีความอบอุ่น คล้ายกับบรรยากาศของทุ่งดอกกระดุมเงินหนองหญ้าม้า ห้องประชุม "มณีเทวา" ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ โดยคำนึงถึงทั้งความสวยงามและฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567 ช่วงเดียวกับที่ดอกมณีเทวาบานสะพรั่งทั่วจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากห้องประชุม "มณีเทวา" แล้ว คณะวิทยาศาสตร์ยังได้ใช้โอกาสนี้ในการตั้งชื่อห้องประชุมทั้งหมดของคณะเป็นชื่อพรรณไม้พระราชทานที่พบได้ในท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี แสดงถึงความภาคภูมิใจในทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า ได้แก่: SC112 - ห้องประชุม ทิพเกสร SC113 - ห้องประชุม ดุสิตา SC114 - ห้องประชุม สรัสจันทร สอดคล้องกับการตั้งชื่อห้องประชุมของมหาวิทยาลัยที่ใช้ชื่ออำเภอ และใช้ชื่อแม่น้ำสายสำคัญเป็นชื่อถนน นั่นเอง มณีเทวา แก้วมณีเทวดา เป็นมณีอันมีค่าของคณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ ![]() ![]() ![]() |
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง : |
เอกสารที่เกี่ยวข้อง : |
โพสต์โดย กาญจนา : ประกาศเมื่อ 11 ธ.ค. 2024 จำนวนผู้อ่าน : 1022 ครั้ง |
อ่านข่าวทั้งหมด |